เรียกได้ว่า การนวดนั้น ทำให้หลายๆคนชอบไปนวด เพราะจะได้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยคลายความเมื่อยล้า ปวดเมื่อย และส่งเสริมการผ่อนคลาย แต่หากไม่ได้รับการนวดจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและปฏิบัติอย่างไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจนวด ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการนวดอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย
ล่าสุด สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับข้อห้าม/ข้อควรระวังในการนวด โดยระบุว่ามีผู้ที่ไม่แนะนำให้นวดไทยดังต่อไปนี้
บุคคลข้อห้ามในการนวดไทย
1. ผู้ที่มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
2. ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคที่มีภาวะการณ์ติดเชื้อเฉียบพลัน
3. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
4. ผู้ที่มีบาดแผลเปิด แผลเรื้อรัง
5. ผู้ที่มีรอยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อได้
6. ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บภายใน 48 ชั่วโมง หรือได้รับการผ่าตัดภายในระยะเวลา 1 เดือน
7. ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดดำอักเสบ (Deep Vein Thrombosis)
8. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง
9. ผู้ที่มีกระดูกแตก กระดูกหัก กระดูกปริร้าว บริเวณที่ผ่าตัดใส่เหล็กหรือข้อเทียม
10. บริเวณที่เป็นมะเร็ง
บุคคลข้อควรระวังในการนวดไทย
1. เด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ (กรณีของหญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับการนวดด้วยความระมัดระวัง)
2. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ที่ไม่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงโป่ง หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดแข็ง
4. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
5. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
6. ผู้ที่มีประวัติเลือดออกผิดปกติ หรือรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
7. ผู้ที่มีภาวะข้อหลวม ข้อเคลื่อน ข้อหลุด
8. ผู้ที่ยังไม่ได้รับประทานอาหาร หรือ หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน 30 นาที
9. ผู้ที่บาดแผลที่ยังหายไม่สนิทดี ผิวหนังแตกง่าย หรือได้รับการปลูกถ่ายผิวหนัง
นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น บางตำแหน่งของร่างกายต้องใช้ความระมัดระวังในการลงน้ำหนักเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีเส้นประสาท หรือหลอดเลือดสำคัญที่เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตำแหน่งบริเวณขมับ ต้นคอ รักแร้ หากกดด้วยความรุนแรงหรือระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หมดสติ หรือชาบริเวณแขนได้ ส่วนตำแหน่งท้อง หากพบว่าเป็นผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง จะเว้นการนวดบริเวณช่องท้อง เพราะหลอดเลือดอาจปริแตกได้ ดังนั้น ก่อนได้รับการนวดควรแจ้งประวัติสุขภาพ หรือโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจการนวดไทยแบบราชสำนักสามารถรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช