อาการโรคหัวใจเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นโรคร้ายแรงที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การเรียนรู้ถึงสัญญาณสำคัญของโรคหัวใจจะช่วยให้รับมือกับโรคนี้ได้อย่างทันท่วงทีและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
อาการโรคหัวใจในระยะเริ่มแรก
โรคหัวใจ มักแสดงสัญญาณเตือนก่อนเริ่มมีอาการรุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้มีความดันโลหิตสูง ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติใด ๆ ก็ตาม โดยในช่วงเริ่มแรก อาการโรคหัวใจมักไม่คงที่ เป็น ๆ หาย ๆ และอาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ อาการที่อาจพบได้ มีดังนี้
- ปวดบริเวณลำคอ ขากรรไกร และลำตัวช่วงบน
- หายใจลำบากหลังจากทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงปานกลาง เช่น การเดินขึ้นบันได การทำสวน การออกกำลังกายในน้ำ
- เจ็บหน้าอก รู้สึกบีบ หรืออึดอัดบริเวณหน้าอกติดต่อกันนาน 30 นาทีไปจนถึง 2-3 ชั่วโมง
- หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เวียนศีรษะ เป็นลม
- หายใจถี่
- รู้สึกหนาวหรือมีอาการอ่อนแรง
- แขนขามีอาการปวด บวม หรือเป็นเหน็บชา
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ โรคหัวใจที่เกิดจากการติดเชื้อที่หัวใจอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอแห้ง ๆ มีไข้ มีผื่นที่ผิวหนัง เป็นต้น
อาการโรคหัวใจที่ควรระมัดระวัง
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ ควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หากพบสัญญาณสำคัญต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด
- อ่อนเพลียมากผิดปกติจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้
- มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่ในเวลาพัก
- เจ็บหรือแน่นหน้าอกระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีอาการดีขึ้นเมื่อได้พัก
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะไปจากปกติ
- เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ หรือมีอาการไออย่างรุนแรง
- มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนไม่เต็มอิ่ม
- รู้สึกอยู่ไม่สุขหรือมีอาการมึนงง
- มีอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดบ่อยครั้ง
- มีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร
- ปัสสาวะน้อยลง
เมื่อไรควรไปพบแพทย์ ?
หากอาการโรคหัวใจมีความรุนแรงขึ้นหรือมีอาการผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดควรขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของท่วงทีอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิต อาการเหล่านี้ ได้แก่
- หายใจถี่ทั้งในระหว่างทำกิจกรรม เวลาพัก หรือแม้แต่ขณะนอนหลับ โดยจะยิ่งหายใจลำบากเมื่อนอนหงาย ส่งผลรบกวนการนอนจนทำให้ตื่นนอนในกลางดึก และมักรู้สึกอ่อนเพลียเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า
- มีอาการไอไม่หยุดหรือหายใจมีเสียงหวีด ร่วมกับมีเสมหะสีขาวหรือสีชมพูออกมาขณะไอ ซึ่งเกิดจากการมีของเหลวคั่งอยู่ภายในปอด เนื่องจากหัวใจสูบฉีดเลือดที่ไหลกลับมาจากปอดได้ไม่ทัน
- มีอาการบวมบริเวณเท้า ข้อเท้า ขา ท้อง หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหารและคลื่นไส้ รวมทั้งอาจมีอาการแน่นท้องร่วมด้วย เนื่องจากเลือดไหลเวียนไปที่ระบบย่อยอาหารน้อยลง
- อ่อนเพลีย เหนื่อยมากผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่หัวใจทำงานผิดปกติและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ
- มีอาการมึนงงและบกพร่องทางการคิด เช่น ไม่มีสมาธิ รู้สึกสับสน เป็นต้น เนื่องจากสมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มากกว่า 150 ครั้งต่อนาที หรือมีอาการใจสั่นร่วมด้วย เพราะหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
โรคหัวใจเกิดจากอะไร ?
รคหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เนื่องจากมีคอเลสเตอรอล ไขมัน และแร่ธาตุบางชนิดที่จับตัวกันหรือเกาะอยู่ตามหลอดเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถขนส่งออกซิเจนและสารอาหารที่สำคัญไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ เมื่อเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หัวใจจึงเริ่มเสื่อมสภาพและเกิดความเสียหายในที่สุดอย่างไรก็ตาม โรคหัวใจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารคอเลสเตอรอลสูงและไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิต ลดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งควรรู้จักจัดการกับความเครียด พฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้สุขภาพหัวใจแข็งแรงขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย